วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2560

ดอกขจร (ชื่อวิทยาศาสตร์ :Telosma minor Craib)


             ดอกขจร (ชื่อวิทยาศาสตร์ :Telosma minor Craib)                      

     ต้นขจร หรือ ต้นสลิดมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น สามารถเลื้อยพันไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร เถามีขนาดเล็ก ลักษณะกลมเหนียวมากและเป็นสีเขียว เมื่อแก่เถาขจรจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตามยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม แตกใบเป็นพุ่มแน่นและทึบ ทำให้บางครั้งพุ่มของของต้นขจรจะแผ่ปกคลุมต้นไม้อื่นได้มิดเลยทีเดียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัด สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ  ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ สลิด ขจร (ภาคกลาง), ผักสลิด (นครราชสีมา), กะจอน, ขะจอน, สลิดป่า, ผักสลิดคาเลา, ผักขิก
ใบขจร หรือ ใบสลิด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ คล้ายใบโพธิ์หรือใบพลู ปลายใบเรียวแหลมยาวเป็นติ่ง (คล้ายใบต้นข้าวสาร) โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบบาง เกลี้ยง ไม่มีจัก จะเห็นเส้นใบชัด หน้าใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียวอมสีแดงเล็กน้อย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร ดอกขจร หรือ ดอกสลิด ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามหรือออกเป็นพวง ๆ คล้ายพวงอุบะตามซอกใบหรือโคนก้านใบ โดยในช่อดอกหนึ่ง ๆ จะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 10-20 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะแข็งเป็นสีเขียวอมสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม (หอมแรงกว่าดอกชำมะนาดหรือกลิ่นของใบเตย โดยจะหอมมากในช่วงเย็นถึงกลางคืน) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ กลีบดอกย่นและบิด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก เชื่อมติดกันเองและเชื่อมติดกับยอดเกสรเพศเมีย แล้วจะเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นชั้นกระบังรอบ ล้อมรอบก้านยอดเกสเพศเมียและเกสรเพศเมียเอาไว้ และมีชุดกลุ่มเรณูอยู่ 5 ชุด ซึ่งมีลักษณะการเกิดคล้ายกับในดอกรัก เกสรเพศเมียจะมีรังไข่ 2 อัน แต่มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียร่วมกัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม บ้างว่าจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ผลขจร หรือ ฝักขจร ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมยาวปลายแหลม (คล้ายฝักนุ่นที่ยังเล็ก) ผิวผลเรียบ ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกตะเข็บเดียว ภายในผลหรือฝักมีเมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก และมีปุยสีขาวติดอยู่ที่ปลายเมล็ด เมล็ดปลิวว่อนคล้ายกับนุ่นที่มีเมล็ดเกาะติดกับใยสีขาว โดยจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม 

คุณค่าทางโภชนาการใน 100 กรัม

พลังงาน 72 แคลอรี
คาร์โบไฮเดรต 10.6 กรัม
โปรตีน 5.0 กรัม ไขมัน 1.1 กรัม
ใยอาหาร 0.8 กรัม
น้ำ 80.5 กรัม
เถา 1.0 กรัม

ประโยชน์

1.️ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก, ยอดใบอ่อน)
2.️ช่วยรักษาโลหิตเป็นพิษ (ราก)
3.️ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก, ยอดใบอ่อน)
4.แก่นและเปลือกใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น, เปลือก)
5.️ดอกและยอดใบอ่อนมีวิตามินสูง การรับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี (ดอก, ยอดใบอ่อน)
6.️ช่วยรักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรือตากอากาศเย็น (ดอก)
7.️ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน (ดอก)
8.️รากมีรสเบื่อเย็น ใช้รับประทานเพื่อให้เกิดอาการอาเจียน ช่วยถอนพิษยาเยื่อเบา (ราก)
9.️รากนำมาฝนหยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ตามัว (ราก) บ้างว่านำมาใช้ผสมกับยาหยอดตาแล้วใช้หยอดตา (ราก)
10.️ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะและโลหิต (ดอก)
11.️ดอกมีรสเย็นขมและหอม ช่วยบำรุงปอด (ดอก)
12.ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ดอก)
13.️ช่วยในการขับถ่าย (ดอก)
14.️ช่วยบำรุงฮอร์โมนของสตรี (ดอก)
15.️ช่วยบำรุงตับและไต (ดอก, ยอดใบอ่อน)
16.️รากใช้เป็นยาดับพิษทั้งปวง (ราก)
17.️ช่วยทำให้รู้รสชาติของอาหารและช่วยดับพิษยา (ราก)
18.️ดอกใช้เข้าเครื่องยาหอม
ข้อควรระวัง ! : ลำต้นเป็นพิษต่อสุกร 

การปลูก

1. จำเป็นต้องเลือกชนิดพันธุ์ดอกขจรที่จะปลูกให้เหมาะสม ซึ่งขจรพันธุ์ดอกนั้นจะให้ดอกที่ดกและดอกใหญ่
2. การให้น้ำดอกขจร ถึงแม้ขจรจะไม่ชอบน้ำแต่ก็ไม่สามารถขาดน้ำได้เลย ควรรดน้ำวันละครั้งเพื่อให้ดอกมีที่โตและไม่เหี่ยวเฉา
3. ควรใส่ปุ๋ยให้เหมาะสมกับต้นดอกขจร  ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 สลับกับปุ๋ยสูตร 25-7-7  โดยใส่สลับกันทุก 15 วัน
4. ควรป้องกันศัตรูของดอกขจรและมีวิธีการป้องกันที่เหมาะสม
5. ควรทำค้างดอกขจรที่เหมาะสม ดอกขจรจะได้รับแสงแดดและออกดอกที่ดี

การขยายพันธุ์

     สามารถทำได้ด้วยวิธีการปักชำ และวิธีการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่นิยมทำกันเป็นส่วนใหญ่คือ วิธีการปักชำ ขจรเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีความอุดมสมบูรณ์ 
-การเลือกกิ่งพันธุ์
ให้เลือกกิ่งที่มีเครือดอกขจรโตสมบูรณ์และใบร่วงไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นกิ่งที่เหมาะแก่การนำไปขยายพันธุ์
-การเตรียมกิ่ง
ตัดบริเวณข้อให้ได้ 2 ข้อๆ ละประมาณ 2 ซม. นำส่วนที่เป็นตาข้อปักลงไปในดินให้ลึกประมาณ 1-2 ซม. เพื่อเพาะชำ
-การเตรียมดิน 
ทำการไถพรวนกลบพื้นที่ปลูกด้วยปุ๋ยมูลไก่จำนวน 10 กระสอบ แล้วตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อจากนั้นให้ทำการยกแปลงไปตามความยาวของพื้นที่ โดยให้แปลงมีความกว้างประมาณ 4-6 เมตร และระหว่างแปลงควรให้อยู่ห่างกันประมาณ 80 ซม.

วิธีการปลูก

     ใน 1 แปลง ควรใช้ระยะปลูกแบบ 2 แถว โดยให้ห่างกันประมาณ 2×2 เมตร หลุมสำหรับปลูกควรลึกประมาณ 30-50 ซม. รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกให้พอเหมาะและตามด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนแกง นำกิ่งพันธุ์ประมาณ 2-3 กิ่งลงปลูกพร้อมเกลี่ยดินกลบโคนต้นให้แน่น รดน้ำให้พอชุ่ม หลังจากนั้นควรให้น้ำวันละ 1 ครั้ง หรือตามสภาพของดินว่ามีความชื้นมากน้อยแค่ไหน ขจรจะเริ่มออกดอกหลังจากปลูกได้ประมาณ 1 เดือนขึ้นไป หรือหลังจากที่ปลูกไปแล้วประมาณ 5 เดือน หากมีการให้น้ำอย่างเพียงพอแก่ความต้องการ ขจรก็จะเริ่มให้ผลผลิตได้อีก
-การทำค้าง
     เพื่อให้ต้นขจรได้เลื้อยพัน และมีการแตกยอดที่ดี จึงควรใช้ไม้ในการทำค้างจำนวน 2 เสา ปักเป็นหลักให้ห่างกันประมาณ 2 เมตร ตามแนวยาวของแปลง โดยให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร และใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ปักระหว่างเสาหลัก และเพื่อให้เป็นทางเลื้อยขึ้นไปของยอดขจร ก็ให้ใช้ไม้ไผ่ที่ผ่าซีกแล้วผูกเป็นขั้นบันไดไว้ด้วยประมาณ 5-6 ขั้น โดยเว้นทางเดินไว้ประมาณ 80 ซม. นับเป็น 1 ซุ้ม แล้วเริ่มทำซุ้มต่อไปเรื่อยๆ
-การใส่ปุ๋ย
     ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรน้ำชนิดใดก็ได้ประมาณ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 สลับกับสูตร 25-7-7 ประมาณ 2 ครั้ง/เดือน และใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักบริเวณโคนต้นไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม

การดูแลรักษา

     ควรใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรที่ได้จากการนำน้ำเปล่า 12 ลิตร ผสมกับสะเดา ตะไคร้หอม ข่า รวมกันให้ได้ 10 ก.ก. แล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน โดยใช้ผสมกับน้ำใช้รดต้นไม้เพื่อเป็นการดูแลบำรุงรักษา และเพื่อปราบศัตรูพืช

การเก็บเกี่ยวผลผลิต 

     ขจร จะให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้หลังจากที่ปลูกไปได้ประมาณ 5 เดือน ควรทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเช้ามืด โดยใช้มีดคมๆ ตัดบริเวณขั้วของก้านดอก เก็บแบบวันเว้นวัน หลังการเก็บเกี่ยวควรมีการตัดแต่งกิ่งที่แก่ออกอยู่เสมอเพื่อให้มีการแตกยอดออกมาใหม่ ในช่วงที่ให้ดอกน้อยประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ควรมีการแต่งกิ่งให้โล่ง หลังทำการย้ายปลูกได้ประมาณ 30 วันต้นขจรก็จะเริ่มผลิดอก และในช่วงอายุประมาณ 8-10 เดือน ก็จะให้ผลผลิตได้มากที่สุด


------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก

 https://medthai.com
http://www.vichakaset.com
 http://www.suanmeesuk.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น